กฎแห่งกรรม
ตอน วิบากกรรมที่ทำให้ "ปากเหม็น"
ปลาทองปากเหม็น ครั้งพุทธกาล ยังมีชาวประมงกลุ่มหนึ่งได้ไปออก หาปลาที่แม่น้ำอจิรวดี วันหนึ่งพวกเขาจับปลาที่มีสีดุจดังทองคำได้ตัวหนึ่ง จึงปรึกษากันว่าจะนำไปถวาย พระราชา และพระราชาจักพระราชทานทรัพย์ให้ เมื่อคิดเห็นตกลงกันได้ดังนั้น จึงนำปลาใส่เรือไปถวายให้พระราชา
เมื่อพระราชาทอดพระเนตรเห็นปลาทองคำ ก็คิดว่า พระพุทธเจ้าเท่านั้นที่จะรู้ว่า เหตุใดปลาจึงเป็นทองคำ จึงรับสั่งให้คนนำปลาไปยังวิหารเชตวัน ที่พระพุทธองค์ประทับอยู่เมื่อมาถึงเชตวัน ปลาก็อ้าปากขึ้น เกิดกลิ่นเหม็นเน่า ฟุ้งไปทั่วทั้งวิหาร!!
พระราชาจึงทูลถามพระศาสดาว่า เพราะเหตุใด ปลาจึงมีสีเหมือนทองคำ และเพราะเหตุใดกลิ่นเหม็นจึงฟุ้งออกจากปากของมัน
พระพุทธเจ้าได้ตรัสเล่าว่า ปลานี้เคยเป็นภิกษุชื่อกปิละ เป็นพหูสูตร มีบริวารมาก ในสมัยพระผู้มีพระภาคเจ้าทรง พระนามว่ากัสสปะ แต่ถูกความทะยานอยากในลาภครอบงำแล้วด่าบริภาษพวกภิกษุผู้ที่ไม่เชื่อคำของตน ทำให้พระศาสนาเสื่อมลง จึงไปเกิดในอเวจีนรก แล้วก็มาเกิดเป็นปลา แต่ด้วยเหตุที่ภิกษุกปิละได้บอกพระพุทธวจนะกล่าวสรรเสริญคุณของพระพุทธเจ้าสิ้นกาลนาน จึงได้อัตตภาพ มีสีเหลือง เหมือนทองคำ แต่ด้วยกรรมที่ได้ด่าบริภาษภิกษุ ผู้มีศีลทั้งหลายทั้งหลาย ส่งผลให้มีกลิ่นเหม็นฟุ้งออกจากปาก
จากนั้นพระพุทธองค์จึงได้ตรัสถามปลาสีทองตัวนั้นว่า
“เจ้าชื่อกปิละหรือ?”
ปลาทองตอบว่า “พระเจ้าข้า ข้าพระองค์ชื่อกปิละ”
“เจ้ามาจากไหน”
ปลาตอบว่า “มาจากอเวจีมหานรก..พระเจ้าข้า”
พระศาสดาจึงตรัสถามต่อไปว่า “พระโสธนะพี่ชายใหญ่ ของเจ้าไปไหน”
“พี่ชายใหญ่ปรินิพพานแล้วพระเจ้าข้า”
“แล้วนางสาธนีมารดาของเจ้าเล่า ไปไหน?”
“เกิดในนรกพระเจ้าข้า”
“นางตาปนาน้องสาวของเจ้าไปไหน?”
“เกิดในมหานรก..พระเจ้าข้า”
พระพุทธเจ้าตรัสถามครั้งสุดท้ายว่า “บัดนี้เจ้าจักไปไหน”
“จักไปสู่อเวจีมหานรกดังเดิม..พระเจ้าข้า” ปลาทองกราบทูล แล้วจึงเอาหัวฟาดเรือฆ่าตัวตายในที่นั้นเอง พวกมหาชนในที่นั้นต่างก็สลดใจ และเกิดอาการขนลุกขนชัน!!
จากนั้นพระพุทธองค์จึงได้ตรัสถึงอดีตชาติของปลา กปิละว่า
ในอดีตกาลแห่งพระศาสนาของพระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่า กัสสปะ ซึ่งปรินิพพานแล้ว มีกุลบุตรสองคนพี่น้องออกบวชในสำนักของสาวกทั้งหลาย
คนพี่ชื่อว่า โสธนะ ส่วนคนน้องชื่อว่า กปิละ มารดาชื่อว่าสาธนี และน้องสาวชื่อว่า ตาปนา ซึ่งทั้งแม่และลูกสาว ก็บวชในสำนักภิกษุณี สองพี่น้องได้ทำวัตรและปฏิบัติแก่พระอาจารย์และพระอุปัชฌาย์ วันหนึ่งจึงได้ถามพระอาจารย์ว่า ธุระในศาสนานี้มีอยู่เท่าไหร่ พระอาจารย์ตอบว่า มี ๒ อย่าง คือ ๑.คันถธุระ ๒.วิปัสสนาธุระ
พระโสธนะผู้พี่จึงคิดว่า เราจักบำเพ็ญวิปัสสนาธุระ เพราะเราอยู่ในสำนักพระอาจารย์และพระอุปัชฌาย์มาแล้ว ๕ พรรษา เรียนกัมมัฏฐานจนเข้าถึงอรหัตผล เข้าไปสู่ป่าเพื่อบำเพ็ญให้บรรลุอรหัตผล เพราะเรามีอายุมากแล้วส่วนพระกปิละ ก็คิดว่าเรายังหนุ่ม เราจะเรียนคันถธุระ ปล่อยให้พี่ผู้มีอายุมาก เรียนกัมมัฏฐานไปเถิด
พระโสธนะได้ลาพระอุปัชฌาย์แล้วเข้าไปสู่ป่าบำเพ็ญเพียรอยู่ไม่นานก็บรรลุอรหัตผล ดำรงชีวิตอยู่ในป่า ส่วนพระกปิละก็ตั้งใจศึกษาปริยัติธรรมจนมีความชำนาญ ในหลักธรรม แล้วก็ได้สอนผู้อื่น โดยลำดับ เมื่อสอน พระภิกษุมากขึ้น ลาภสักการะก็มากขึ้น จนเกิดความทะยานอยากในลาภสักการะ และยังบอกด้วยว่าสิ่งที่ไม่สมควรแก่ สมณะ เป็นเรื่องที่สมควรแก่สมณะ และสิ่งที่สมควรแก่สมณะ เป็นเรื่องที่ไม่สมควรแก่สมณะ รวมทั้งกล่าวถึงสิ่ง ที่มีโทษ ว่าไม่มีโทษ และสิ่งที่ไม่มีโทษ ว่ามีโทษแม้ภิกษุอื่นๆจะพร่ำบอกว่าอย่าได้กล่าวเช่นนี้ แล้วแสดงพระธรรมวินัยกล่าวสอน แต่กปิละก็หาฟังไม่ กลับตวาดภิกษุเหล่านั้นว่าไม่รู้เรื่องอะไร
ภิกษุทั้งหลายจึงไปแจ้งแก่พระโสธนเถระผู้พี่ พระโสธน เถระ จึงไปหาพระกปิละ แล้วเตือนว่าภิกษุผู้ปฏิบัติชอบทั้งหลายนั้นก็เป็นผู้สืบอายุพระศาสนา เพราะฉะนั้นจงอย่ากล่าว คัดค้านในสิ่งที่ควร ทราบมาว่าพระเถระตักเตือนเธอสองสาม ครั้งแล้ว แต่เธอก็ไม่ฟัง ถ้าเช่นนั้นเธอก็จงรับกรรมที่ทำไว้เถิดตั้งแต่นั้นมาก็ไม่มีภิกษุผู้ปฏิบัติชอบรูปใดตักเตือนและ ข้องเกี่ยวกับพระกปิละอีก มีแต่พวกประพฤติชั่วเท่านั้นที่คอยห้อมล้อม
วันหนึ่งพระกปิละคิดว่าจะสวดปาฏิโมกข์ จึงถือพัดไป ที่โบสถ์ นั่งบนธรรมาสน์แล้วถามขึ้นว่า
“ผู้มีอายุ ปาฏิโมกข์ย่อมเป็นไปเพื่อภิกษุทั้งหลายผู้ประชุมกันแล้วในที่นี้หรือ?”
ภิกษุทั้งหลายนิ่งเสีย เพราะเห็นว่าไม่มีประโยชน์อะไรที่จะไปโต้ตอบด้วย พระกปิละเห็นดังนั้นจึงกล่าวว่า
“ผู้มีอายุ ธรรมก็ดี วินัยก็ดี ไม่มีประโยชน์อะไรด้วยปาฏิโมกข์ที่พวกท่านจะฟังหรือไม่ฟัง” พูดจบก็ลุกจากอาสนะ
การกระทำดังกล่าวของพระกปิละนั้น เป็นการทำให้ศาสนา คือปริยัติของพระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่ากัสสปะเสื่อมลง
ในขณะที่พระโสธนเถระผู้พี่ก็ได้ปรินิพพานในวันนั้นเอง
หลังจากที่พระกปิละสิ้นอายุขัยแล้วก็ไปเกิดในอเวจีมหานรก ส่วนมารดาและน้องสาวที่บวชเป็นภิกษุณี ก็ไปเกิดในอเวจีมหานรกเช่นกัน เพราะทำตามแบบพระกปิละ โดยการด่าว่าภิกษุอื่นๆ ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
พระพุทธเจ้าจึงตรัสสอนว่า นักปราชญ์ทั้งหลายได้กล่าวการประพฤติธรรม ๑ การประพฤติพรหมจรรย์ ๑ ว่าเป็นแก้วอันสูงสุด
และได้ตรัสพระคาถาต่อไปอีกว่า
ตัณหาดุจเถาย่านทราย ย่อมเจริญแก่คนผู้มีปกติประพฤติประมาท เขาย่อมเร่ร่อนไปสู่ภพน้อยใหญ่ ดังวานร ปรารถนาผลไม้ เร่ร่อนไปในป่าฉะนั้น ตัณหานี้เป็นธรรมชาติลามก มักแผ่ซ่านไปในอารมณ์ต่างๆในโลก ย่อม ครอบงำบุคคลใด ความโศกทั้งหลายย่อมเจริญแก่บุคคลนั้น ดุจหญ้าคมบางอันฝนตกรดแล้วงอกงามอยู่ฉะนั้น แต่ผู้ใด ย่อมย่ำยีตัณหานั้นซึ่งเป็นธรรมชาติลามก ยากที่ใครในโลก จะล่วงไปได้ ความโศกทั้งหลายย่อมตกไปจากผู้นั้น เหมือนหยาดน้ำตกไปจากใบบัวฉะนั้น เพราะฉะนั้น เราบอกกับท่านทั้งหลายว่า ความเจริญจงมีแก่ท่านทั้งหลายบรรดาที่ประชุมกันแล้ว ณ ที่นี้ ท่านทั้งหลายจงขุดรากตัณหาเสียเถิด ประหนึ่งผู้ต้องการแฝก ขุดหญ้าคมบางเสียฉะนั้น มาร อย่าระรานท่านทั้งหลายบ่อยๆ ดุจกระแสน้ำระรานไม้อ้อฉะนั้น
เครดิต : หนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 82 ก.ย. 50 โดยพระมหา ดร.ณรงค์ศักดิ์ ฐิติยาโณ วัดใหม่ยายแป้น