6 ขั้นตอนสร้างโลกใหม่ให้นิยาย
นิยายแฟนตาซีนอกจากจุดเด่นจะที่เนื้อเรื่องชวนติดตามแล้ว "โลก" อันมีความเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง ไม่เหมือนกับเรื่องอื่นๆ แม้จะเป็นธีมเดียวกัน ก็เป็นจุดขายอย่างหนึ่งก็ว่าได้ ซึ่งนักเขียนบางคนอาจจะไม่ได้คิดถึงตรงจุดนั้น คิดว่าก็แค่ใส่ๆไปให้รู้ว่าเป็นโลกแฟนตาซีก็พอแล้ว แต่พี่แบงค์สังเกตมานานแล้วว่า นิยายแฟนตาซีหลายเรื่องที่ติดอันดับเบสต์เซลเลอร์ มักจะมีการสร้าง "โลก" ที่ดูมีมิติ อ่านแล้วรู้สึกเชื่อได้แทบจะสนิทใจเลยว่านั่นคือโลกอีกโลกหนึ่ง ไม่ใช่แค่บอกปากเปล่าเพียง นี่คือโลกแห่งxxxx แต่คนอ่านกลับไม่ได้รู้สึกว่าเป็นอีกโลกหนึ่งเลย เพราะมันดูแบนๆธรรมดาๆนั่นเอง
แค่โปะทรายเป็นปราสาท ก็ยังเรียกไม่ได้เป็นปราสาทจริงๆ หากกำลังจะสร้างนิยายเรื่องใหม่ขึ้นมาสักเรื่อง (หรือจะรีไรท์ใหม่ก็ว่ากันไป) ควรจะให้ความสำคัญกับโลกของนิยายด้วย เพราะตัวละครไม่สามารถเกิดขึ้นได้โดยปราศจากสภาพแวดล้อมที่หล่อหลอมให้เกิดเป็นตัวเขา โดยเคล็ดลับที่จะทำให้สามารถสร้างโลกนิยายของตัวเองขึ้นมาได้นั้น มีอยู่ 6 ขั้นตอนดังนี้
1 เลือกธีมเรื่องที่ต้องการจะเขียน เช่น ยุคปัจจบัน ยุคเรเนอซองค์ โลกเวทมนตร์ ซามุไร สงครามอวกาศ ป่าดงดิบ สวรรค์นรก ฯลฯ ธีมที่เราเลือกคือโลกที่เราตัดสินใจแน่นอนว่าจะอยู่กันมันไปตลอดจนจบเรื่อง เมื่อเลือกธีมไหนแล้ว ต้องไม่โดดข้ามไปข้ามมานะครับ (ยกเว้นเราตั้งใจจะเขียนแนวเจาะเวลาข้ามมิติ)
[ แพรวเคยร่างพล๊อตไว้เป็นโลกเวทมนตร์แบบยุคกลางต่างมิติค่ะ มีปราสาท เจ้าหญิง เจ้าชาย และเวทย์ โดยโลกนี้มีอยู่จริงๆในคนละมิติและเวลา สมัย กับโลกมนุษย์ ลองเอาไปประยุคได้นะคะ :) ] 2 วาดภาพในหัวว่า โลกในธีมที่เราจะเขียนนั้นมีลักษณะเป็นอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น
◦ โลกเวทมนตร์: ฉากหลังเป็นสไตล์ยุโรปยุคกลาง เป็นช่วงที่เผ่าพันธุ์มังกรสูญหายไปจากโลก มนุษย์ถือสิทธิ์เป็นเจ้าผู้ปกครองทวีป
◦ สงครามอวกาศ: ปีค.ศ. 3000 อาณานิคมดาวอังคารประกาศเป็นศัตรูกับสหพันธ์โลก ทำสงครามกันมาข้ามศตวรรษ
◦ ป่าดงดิบ: อารยธรรมอันรุ่งเรืองของชนเผ่าโบราณได้ล่มสลายมานับหมื่นปี โดยทิ้งความลับบางอย่างที่กุมชะตาโลกไว้
3 สร้างรายการตัวละครขึ้นมา ทั้งตัวเอกและตัวรอง ตั้งชื่อ เพศ อายุ พื้นเพชีวิต ความสัมพันธ์ อาชีพ และบทบาทภายในเรื่อง
4 วางโครงสร้าง ภูมิประเทศ เมือง ชีวิตความเป็นอยู่ ความเชื่อในลัทธิศาสนา หรืออะไรก็ตามที่เข้ากับธีมและตัวละครที่เราออกแบบขึ้นมา และต้องยืนพื้นกับหลักความเป็นเหตุและผลให้มากที่สุด
5 ลงรายละเอียดปลีกย่อย ให้มากขึ้นกว่าเดิมในเรื่องของขนาด ปริมาณ ตำแหน่งที่ตั้ง ทิวทัศน์ ลักษณะ อายุ ฯลฯ ตรงนี้เราอาจจะต้องวาดภาพโยงเส้นเป็น Mindmap ด้วย จะได้ไม่สับสนว่าเราคิดอะไรไปบ้าง
6 วางพล็อตการดำรงชีวิตของตัวละคร อาทิ
◦ สกุลเงินที่ใช้แลกซื้อสิ่งของ อาหารที่กิน เสื้อผ้าที่ใส่ อาวุธหรือสิ่งของที่ใช้ สัตว์ที่เลี้ยง เฟอร์นิเจอร์
◦ ขนส่งและการเดินทาง
◦ ความสำคัญของสิ่งของ ผู้ที่เป็นเจ้าของ และเงื่อนไขการได้สิ่งของนั้น(ซื้อ แลก ขโมย บังเอิญตกเขาแล้วพบเข้า ฯลฯ)
◦ความสัมพันธ์กับตัวละครอื่น
◦ ฯลฯ
หากรู้สึกว่ายังไม่รู้จักตัวละครของตัวเองดีพอ พี่แบงค์ขอแนะนำให้ลองทำแบบทดสอบจิตวิทยา RISB สำหรับตัวละคร จะช่วยให้เราเข้าใจตัวละครมากยิ่งขึ้น
สิ่งหนึ่งที่นักเขียนทุกคน ควรให้ความสำคัญอีกอย่างหนึ่งไม่แพ้กันก็คือ ถึงแม้นิยายของเราจะเป็นแฟนตาซี แต่แฟนตาซีต้องอิงกับความเป็นเหตุและผลเสมอ ถ้าผู้เขียนอยากให้เพลิงลุกใต้น้ำได้ ก็ต้องมีเหตุผลที่ดูน่าเชื่อหรือยอมรับได้ว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น คนต่างแดนต่างอารยธรรมทำไมถึงพูดภาษาเดียวกันรู้เรื่อง ตรงนี้ถ้ามีเหตุผลเพิ่มขึ้นมาสักหน่อย ผู้อ่านก็จะเชื่อถือนิยายของคุณมากยิ่งขึ้น และอินกับนิยายเรื่องนั้น
เรียบเรียงใหม่จาก:
Dek-d