แรงเงา แรงจริงๆ
หลังฉายไปได้เพียงไม่กี่สัปดาห์ ละครน้ำเน่าแห่งปี “แรงเงา”ก็ได้เสียงตอบรับจากผู้ชมอย่างล้นหลามทั้งดีและไม่ดี ในแง่ของนักแสดงและบทละครเอง โดยที่สามารถเรียกได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ แรงเงา ฟีเวอร์ เพราะไม่ว่าจะเป็นโซเชียล ออนไลน์ทั้งหลาย ไปจนถึงเว็บไซต์ชุมชนสังคมบันเทิงชื่อดังอย่างห้องเฉลิมไทย พันทิป ก็มีการพูดถึงละครเรื่องนี้อย่างกว้างขวาง
แง่ดีจากละครเรื่องนี้คือการสะท้อนปัญหาสังคมออกมาให้เห็นอย่างแท้จริงเป็นรูปธรรม แต่ก็มีหลายความคิดเห็นที่ว่าเนื้อหานั้นเกินจริง และรุนแรงเกินไป อีกทั้งทำให้เกิดกระแสเชิดชูเมียน้อย หลังถูกเมียหลวง ด่าทอจนหน้าชา ตบตีกันสนั่นอย่างรุนแรงจนสร้อยมุกราคาหลายบาทกระจายเกลื่อนกระทรวง เลยทำให้แฟนๆ เชียร์เมียน้อยอย่างมุตตาหรือมุนินทร์แบบออกนอกหน้า ด้วยหวังแค้นนี้ต้องชำระสั่งสอนเสียบ้าง เพราะคนอื่นก็มีมือตบได้เหมือนกัน
เหตุผลในการดูละครจะมีอะไรมากมายไปเสียกว่าเพื่อความบันเทิง แต่กับบางกลุ่มคนไม่ได้คิดแบบนั้น จากการปรากฏเนื้อหาที่รุนแรงนี้เอง จึงถูกมองว่าละครเรื่องนี้กำลังทำให้เด็กและเยาวชนไทยซึมซับค่านิยมผู้หญิงแบบผิดๆ และจวกว่าละครเรื่องนี้อาจทำให้ภาพลักษณ์หญิงไทยเสื่อม พร้อมแนะให้กระทรวงวัฒนธรรมเปลี่ยนเวลาฉายเป็นหลัง 4 ทุ่ม รวมถึงควรจับมือกับกบว.ช่อง คุมเนื้อหา และภาพก่อนออกอากาศ
จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงไทยก้าวไกล ผู้ออกมาแสดงจุดยืนว่าไม่สนับสนุนละครเรื่องแรงเงา กล่าวว่าผลกระทบที่ชัดเจนจากละครเรื่องนี้คือเนื้อหาของละคร ตอกย้ำค่านิยมเดิมๆ เกี่ยวกับผู้ชายเป็นใหญ่ในครอบครัว และมีภรรยาได้หลายคน ขณะเดียวกัน ยังตอกย้ำเรื่องการแก้ปัญหา โดยโยนให้ฝ่ายผู้หญิงเป็นคนหาทางออกเอง เช่น ภรรยาไปตามล่ากิ๊กสามี อีกฝ่ายน้องสาวเสียชีวิต พี่สาวตามมาล้างแค้น ซึ่งไม่ใช่ทางออกที่สร้างสรรค์ ขณะที่ปัจจุบันละครลักษณะนี้ มีหลายช่อง วนเวียนอยู่แต่กับการใช้ความรุนแรง ใช้ภาพตบตีอย่างชัดเจน ซึ่งความเป็นจริงของสังคมไม่ได้มากขนาดนั้น มีไม่กี่กรณี แต่ดูเหมือนสังคมไทยเป็นแบบนี้
“เนื้อหาควรปรับ เพราะปัจจุบันสถานภาพผู้หญิงเปลี่ยนแปลงไปแล้ว จะเห็นบทบาทการเป็นผู้บริหาร ทำไมไม่สื่อออกมาบ้าง แต่สวนทางกัน ควรมีละครที่ผู้หญิงมีศักยภาพเปลี่ยนแปลงสังคม กระตุ้นให้ผู้หญิงออกมาจากภาพที่วันๆ จะไปทะเลาะกับภรรยาน้อย ตามล่ากิ๊ก ควรดึงผู้หญิงออกมาได้แล้ว สื่อแบบนี้จะวนเวียน คนก็ตั้งคำถามสังคมไทยก็มีบทบาทดีๆ ของผู้หญิง แต่ละครหรือโฆษณากลับตอกย้ำภาพพจน์แค่สวย หุ่นดี วนเวียนกับเรื่องเหล่านี้ ดังนั้น กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ที่ดูแลด้านเรตติ้งของสื่อ ต้องดูแลให้มากกว่านี้ ควรเข้าไปมีส่วนร่วมกับ กบว.ช่อง ไม่ปล่อยให้พิจารณากันเอง”
นอกจากนั้น ยังแสดงความคิดเห็นเรื่องของทางออกของปัญหานี้โดยแนะว่าต้องตรวจสอบมาตรการเรื่องเรตติ้งเพราะคนดูยังเป็นเยาวชน และละครควรออกอากาศหลังเวลา 22.00 น.ขึ้นไปที่เด็กเข้านอนแล้ว ส่วนทางแก้ปัญหาระยะยาว เรื่องกฎหมายต้องมีมาตรการปฏิรูปสื่อ ซึ่งขยายจากประเด็นละครไปถึงสื่อโฆษณาที่ไม่สร้างสรรค์
เครดิต http://www.manager.co.th/daily/viewnews.aspx?NewsID=9550000130768
ตามความเห็นเรานะ ถึงจะเปลี่ยนเวลาฉาย เด็กมันก็ไปดูย้อนหลังได้อ่ะ -0- (รวมถึงเราด้วย)
เพราะใช่ว่า เด็กจะเล่นคอมไม่เป็น..........
เพราะใช่ว่า เด็กจะเล่นคอมไม่เป็น..........