หาเจอแล้วเหตุผลถึงจะรับไม่ได้แต่ก็ไปอ่านดูนะเอาของภาคอื่นด้วย
1.มายาคติเรื่อง “คนเหนือใจง่าย คนใต้ใจดำ คนอีสานโง่ คนไทยขี้เกียจ*
น่าประหลาดใจที่ว่า ภายหลังการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคมทื่ผ่านมานั้น เหตุและผลของมันได้กลายเป็นรอยร้าวลึกๆ ในหมู่ประชาชนคนไทย ดังที่เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง
เสียงวิจารณ์หนักหนาสาหัสนั้นเริ่มจากมายาคติเดิมๆ ที่ครอบงำสังคมมาด้วยวลีหยาบๆ ว่า “คนเหนือใจง่าย คนใต้ใจดำ คนอีสานโง่ คนกรุงเห็นแก่ตัว และคนไทยขี้เกียจ”
ดูเหมือนว่าเสียงสะท้อนของการวิจารณ์ดังกล่าวไม่ได้ทำให้เราหลุดพ้นจากหล่มปลักแห่งมายาคตินี้เลย อาทิ
-คนเหนือทำไมใจง่ายนัก แม้จะลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญทั้งภาค แต่คะแนนรับร่างก็เกือบสูสีกัน ลืมคุณงามความดีของอดีตนายกฯทักษิณได้ง่ายดายอะไรขนาดนี้
-คนอีสานก็โง่อย่างนี้แหละ เห็นแก่เงินไม่กี่บาทแล้วก็ลงมติไม่รับร่างฯ กันทั้งภาค แบบนี้ก็ถือว่าเป็นภาคที่ด้อยพัฒนา อย่างนี้ก็ไม่มีวันเจริญเสียที ถือเป็นอุปสรรคการพัฒนาประเทศชาติ
-คนใต้ทำไมใจจืดใจดำกับคุณทักษิณนัก ทั้งที่คุณทักษิณเคยช่วยให้ราคายางดีขึ้นขนาดนั้น แล้วเป็นไงตอนนี้ลองกองก็ราคาตก มังคุดเอย เงาะเอยแย่ไปหมด แล้วยังไปรับร่างของพวกเผด็จการอีก ไม่ได้มีอุดมการณ์ประชาธิปไตยเลย
-คนกรุงเทพฯก็งี้แหละเห็นแก่ตัว ที่ไปรับร่างรัฐธรรมนูญซะเยอะก็เพราะไม่อยากให้มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการทำมาหากิน ช่างเห็นแก่ได้เฉพาะหน้าจริงๆ
-คนไทยนี่ขี้เกียจชะมัด แทนที่จะอ่านหนังสือร่างรัฐธรรมนูญให้เข้าใจซะหน่อย เขาอุตส่าห์ส่งไปให้ถึงบ้านก็ไม่ยอมอ่าน ไปบ้าเห่อรับ-ไม่รับตามกระแส แล้วบ้านเมืองมันจะพัฒนาไปได้ไง
และต่อเติมหน่อย
2.ความแตกต่างในเชิงสร้างสรรค์:ลึกๆ แล้วทำไมคนอีสานไม่รับร่างฯ
แต่หากทะลุด่านม่านมายาคติไปแล้ว เราอาจพบเหตุผลที่แท้จริงของการรับร่างหรือไม่รับร่างตามเนื้อผ้าดังนี้ครับ
*คนเหนือนั้นก็ไม่ได้ใจง่าย ผลรวมที่คนภาคเหนือลงประชามติไม่รับร่างชนะฝ่ายรับร่างไปเล็กน้อยทั้งภูมิภาคนั้นก็สะท้อนอยู่แล้วว่า คนเหนือมีเหตุมีผลตามสมควรแก่กรณี ผลถึงออกมาก้ำกึ่งอย่างนั้น
*คนใต้ก็ไม่ได้ใจดำ-อาจมีเหตุผลลึกๆ เช่นคนใต้มีอุดมการณ์ไม่ให้เงินทองอามิสสินจ้างมีผลต่อการลงประชามติของตน หรือคนใต้นั้นนิยมชมชอบพรรคประชาธิปัตย์เป็นส่วนมาก เมื่อพรรคประชาธิปัตย์มีธงชัดเจนว่าจะรับร่าง คนใต้ก็ย่อมรับร่างตามไปด้วย ไม่ได้เกี่ยวว่าคนใต้รับร่างเพราะนิยมชมชอบการทำรัฐประหาร หรือไม่เกี่ยวกับว่าไปใจจืดใจดำกับคุณทักษิณแต่ประการใด
*คนกรุงก็ไม่ได้เห็นแก่ตัว คนกรุงอาจเห็นแก่ประเทศชาติส่วนรวม ไม่อยากให้บ้านเมืองต้องเผชิญหน้ากัน และนำไปสู่ความสับสนวุ่นวายไม่จบหากผลออกมาว่าไม่รับร่าง จะได้เลือกตั้งไวๆ กระทั่งอยากให้ คมช.ออกไปให้พ้นไวๆ เมื่อเลือกตั้งได้ไวๆ ไม่เกี่ยวกับว่าคนกรุงเห็นแก่ตัวเห็นแก่ปากท้องซะหน่อย
*คนไทยก็ย่อมไม่ขี้เกียจเช่นกัน เพราะเรื่องรัฐธรรมนูญนั้นเป็นเทคนิคเอามากๆ ภาษาต่างๆ ก็เป็นเรื่องกฎบัตรกฎหมาย ประชาชนชาวบ้านก็ย่อมต้องเปิดกว้างรับฟังจากผู้เชี่ยวชาญ แล้วตัดสินใจ ไม่ใช่ว่าขี้เกียจอ่าน ทั้งที่เขาส่งหนังสือร่างฯ เล่มสีเหลืองมาให้อ่านแล้ว
*คนอีสานก็ไม่ได้โง่หรือรับเงินแล้วไม่รับร่าง ซึ่งในฐานะอุปนายกสมาคมชาวอีสาน (สมาคมนี้ก่อตั้งโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกสมาคมคนแรก,นายกสมาคมคนปัจจุบันคือพลเอกพินิจ โจมพรม มีพลเอกรณชัย ศรีสุวรนันท์ เป็นประธานที่ปรึกษาสมาคมชุดปัจจุบัน) ผมคงจะอธิบายได้ดังนี้
1.การประกาศตัวของชาวอีสานว่าพวกเราคือคน และไม่ใช่พลเมืองชั้นสองของประเทศนี้-โดยมายาคติที่สร้างกันมานั้น คนอีสานคือคนเชื้อชาติลาว เป็นบักเสี่ยว (เราไม่ปฏิเสธฐานะทางประวัติศาสตร์ของเรา เราภาคภูมิใจเสมอในสิ่งที่บรรพบุรุษสานสร้างและสืบสาน) แต่ในเมื่อคนอีสานได้ละทิ้งการต่อต้านอำนาจรัฐจากส่วนกลางมานานพอสมควร (ดังกรณีกบฎผู้มีบุญนับ 18 ครั้งตลอดประวัติศาสตร์ปลายกรุงศรีอยุธยามาจนถึงปีพ.ศ.2502) เป็นที่มาของสำนวน “ลืมชาติ” ก็เพื่อเข้าเป็นส่วนหนึ่งอันเดียวอย่างกลมเกลียวกับประชาชาติไทยทั้งมวล ในบัตรประชาชนทุกคนนั้นต่างมีทั้งสัญชาติและ “เชื้อชาติ” ไทย ดังนั้นเราก็สมควรได้รับการพิจารณาฐานะเป็นไทยอย่างภาคภูมิด้วย
ทว่าพี่น้องร่วมชาติของเราจำนวนไม่น้อยก็ยังเห็นคนอีสานเป็นพลเมืองชั้นสองของประเทศนี้ สิ่งที่คนอีสานคิด ทำ ตัดสินใจหากไม่น่าขบขันชวนตลก ก็ดูโง่ ไร้คุณภาพไปเสียทั้งนั้น
เมื่อคนภูมิภาคนี้เลือกพรรคการเมืองหนึ่งเข้าไปบริหารประเทศ พี่น้องร่วมชาติร่วมแผ่นดินของเราส่วนหนึ่งก็ตราหน้าว่ามาจากคนอีสานเลือก เลยไม่มีคุณภาพมาจากการซื้อเสียง และเมื่อจัดการเลือกตั้งอีกครั้งในวันที่ 2 เมษายน 2549 คนอีสานเลือกพรรคนั้นเข้าไปอีกครั้งก็ถูกตราหน้าเช่นเดิม และไม่เคารพต่อการตัดสินใจของคนอีสาน ตัดสินให้การเลือกตั้งนั้นเป็นโมฆะ และซ้ำร้ายทำการรัฐประหาร 19 กันยาฯ ดังว่าเสียงของคนภูมิภาคนี้ไร้ความหมายใดๆ และจะทำอะไรก็ได้
ปรากฎการณ์ทำนองนี้คนอีสานเขาเรียกว่า “ตีนช้างเหยียบปากนก” และเมื่อช้างง้างตีนขึ้นไป เปิดโอกาสให้นกได้ส่งเสียงซะบ้างในการลงประชามติ 19 สิงหาฯ มติอันท่วมท้นของคนอีสานด้วยการ “ไม่รับ”นั่นก็เป็นช่องทางเดียวที่นกจะร้องออกมาได้
เหตุใดเมื่อนกร้องออกมาด้วยเสียงอันแหบพร่าทว่าทรงพลัง ช้างจะหวนมาเหยียบปากนกอีกครั้งอย่างนั้นหรือ?
2.ความสืบเนื่องอันมาแต่เศรษฐกิจและวิถีชีวิตของพลเมืองอีสาน-อีสานปรับตัวครั้งใหญ่หลังแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ เมื่อปีพ.ศ.2504 คนอีสานจากเดิมผลิตแบบยังชีพพออยู่พอกินพอเพียง มาเป็นการผลิตพืชผลการเกษตรเชิงเดี่ยวเพื่อส่งขายโรงมันฯ โรงปอ โรงอ้อยแล้วส่งออกไปยังสหภาพยุโรป แต่โครงสร้างพื้นฐานนั้นกลับไม่เอื้อ ต้องขนข้าว ขนปอใส่เกวียนมาขายในเมือง
ดังนั้นเมื่อ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช แห่งพรรคกิจสังคม มีนโยบาย “เงินผัน ประกันราคาพืชผล”สร้างโครงสร้างพื้นฐานทั้งถนนคึกฤทธิ์ บ่อน้ำคึกฤทธิ์ อะไรๆ ก็คึกฤทธิ์ ก็เป็นธรรมดาว่าต้องเป็นพรรคขวัญใจคนอีสานในพ.ศ.นั้น เพราะทำให้เรามีถนนหนทางขนพืชผลการเกษตรออกไปขายสะดวก อ้อยจะได้ไม่แห้งกรอบจนน้ำหนักฮวบฮาบขายไม่ได้ราคา ปอจะได้ไม่แห้งจนน้ำหนักหายไปครึ่งต่อครึ่งเมื่อถึงโรงงานรับซื้อพืชผล ฯลฯ
ก็ดังนั้นเมื่อพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ จัดตั้งพรรคความหวังใหม่บอกว่าจะทำให้อีสานเขียว นายประจวบ ไชยสาส์น บอกว่าจะผันน้ำโขงมาลงโขง-ชี-มูล พวกเราจึงเทเสียงให้ เพราะน้ำใช้ในการเกษตรของเราจำเป็นต่อพืชผลการเกษตรที่ต้องส่งไปขาย (ขายเพื่อมีเงินมากินมาใช้ มาส่งลูกไปเรียนหนังสือในเมือง จะได้ไม่โง่ ไม่จน ไม่เจ็บ ไม่ถูกดูหมิ่นถิ่นแคลน) คนอีสานก็ต้องเลือกพรรคการเมืองเหล่านี้
คนอีสานเป็นภูมิภาคที่ยากจน (พรรคไทยรักไทยของอดีตนายกฯ ทักษิณก็บอกว่าถ้าเช่นนั้นจะตั้งกองทุนให้หมู่บ้านละ 1 ล้านบาท), เจ็บ (พรรคไทยรักไทยออกนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค),โง่ (พรรคไทยรักไทยมีนโยบาย 1 โรงเรียน 1 อำเภอ และให้ทุนหวยใต้ดินไปเรียนเมืองนอก) สิ่งเหล่านี้ไม่เฉพาะพรรคไทยรักไทย หรือทักษิณ ขอให้เป็นพรรคไหนก็ได้ พรรคประชาธิปัตย์ก็ยังได้ หรือพรรครักชาติก็ไม่ว่า หากตอบสนองความต้องการที่แท้จริง คนอีสานก็พร้อมเทคะแนนเสียงให้
มันไม่ใช่เรื่องเงิน 50 บาท 200 บาทฟาดหัวกัน แล้วคนอีสานที่ “โง่-จน-เจ็บ”ก็ไปเลือก หย่อนบัตรไป 4 วินาทีไว้เจอกันใหม่อีก 4 ปีข้างหน้า
ก็ดังนั้นเองคือการตัดสินใจเลือกของคนอีสานล้วนผูกพันกับวิถีการผลิต วิถิเศรษฐกิจ และวิถีชีวิตภายใต้ระบบเศรษฐกิจการตลาดสมัยใหม่
ทำไมพี่น้องร่วมชาติของเราจึงละเลยผ่านข้ามความจริงข้อใหญ่เช่นนี้ และดูหมิ่นถิ่นแคลนว่าคนอีสานเป็นทาสน้ำเงินไม่กี่บาท...น่าอนาถใจแท้ๆ
3.ผู้แทนคนจน ผู้แทนในอุดมคติของชนชาวอีสานหน้าตาเป็นเช่นใด
ด้วยมายาคติที่ดูหมิ่นถิ่นแคลนทำให้จินตนาการนั้นผิดพลาดบกพร่องมองเห็นแต่ “โรคร้อยเอ็ด”ภาพของคนอีสานพากันขายเสียง 200 ซื้อเหล้าขาวได้ไม่กี่ขวด ซื้อยาทัมใจไม่กี่ซอง...
คนอีสานนั้นเลือกผู้แทนของเราแบบที่เป็นขวัญใจของเราในฐานะผู้แทนในอุดมคตินั้นมากต่อมาก
-สมัยเมื่อแรกประชาธิปไตยไม่นาน คนอย่างนายเตียง ศิริขันธ์ ผู้ได้ชื่อเป็นขุนพลภูพานในการสร้างขบวนการเสรีไทยสายอีสานต่อต้านญี่ปุ่นผู้รุกราน, นายจำลอง ดาวเรือง , นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ,นายถวิล อุดล หรือนายครอง จันดาวงศ์ คนเหล่านี้ล้วนเป็นผู้รักชาติรักประชาชน และถูกสังหารโหดในยุคมืดเผด็จการครองเมือง
-คนที่เป็นนักอุดมคติอย่างนายแคล้ว นรปติ นายทองปักษ์ เพียงเกษ นายทองใบ ทองเปาว์ พันเอกสมคิด ศรีสังคม เหล่านี้ย่อมไม่ใช่นักอุดมคติที่รักชาติรักประชาธิปไตย ผ่านคุกตะรางเผด็จการมาดอกหรือ คนอีสานเลือกบางท่านตั้งแต่หนุ่มยันชรา บางท่านทำหน้าที่ถึงวันสุดท้ายของชีวิต คนเหล่านี้เคยซื้อเสียงดอกหรือ แค่คนอีสานรู้ว่าลงเลือกตั้ง นอกจากจะเทเสียงให้ท่วมท้นแล้วยังช่วยเป็นหัวคะแนนอาสาสมัครให้อีกด้วย ก็ย่อมไม่ต่างจากคนใต้ชื่นชมในอุดมการณ์ของชวน หลีกภัยแม้แต่กระผีก....เงิน100-200 เท่านั้นเองหรือที่เป็นเหตุผลให้คนอีสานโหวตเลือกใคร??!
-แม้กระทั่งปัจจุบัน คนที่ไม่ได้มีเงินมีทองอะไรเลยก็เป็นผู้แทนของคนอีสานตั้งมากตั้งมาย และผู้แทนหมาหลงแบบสุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ หรือพงส์ สารสินก็เคยไปแพ้ยับเยินในสนามเลือกตั้งอีสานมาแล้ว
4.คนอีสานในฐานะส่วนหนึ่งของประชาชาติไทย และในฐานะพลเมืองที่มีศักดิ์ศรี-ผมไม่ได้คิดไปอย่างอื่นกว่านี้เลย ก็ในเมื่อคนอีสานทั้งภูมิภาค ไม่มีใครแล้วที่คิดว่าตนเป็นเชื้อชาติอื่น หรือไม่เคยทวงถามด้วยซ้ำไปว่าจากกรุงสุโขทัย สู่อยุธยา มารัตนโกสินทร์นั้น ประวัติศาสตร์ของพวกเรา “หายไปไหน?” ทำไมจู่ๆ มาโผล่ขึ้นแบบลอยๆ ราวกับว่าบ้านเชียงอันยืนยาวราว 5,000 ปีนั้น ไร้พัฒนาการที่สืบเนื่อง...
ชาวอีสานประกาศตนอย่างเต็มภาคภูมิว่าเราคือไทย และสามัคคีกลมเกลียวอย่างเหนียวแน่นกับความเป็นไทย ไม่คิดจะแยกชาติแยกแผ่นดิน แต่พี่น้องร่วมชาติที่รักพร้อมจะยอมรับหรือยังในสิ่งที่เราเป็นอยู่ เป็นมา และอยากจะเป็น และเคารพต่อการตัดสินใจของพวกเราว่าล้วนมีบริบทความเป็นมาอันสมเหตุสมผลทุกประการ และสิ่งที่คนอีสานได้ตัดสินใจลงประชามติไปนั้นเป็นความภาคภูมิใจที่คนอีสานได้ตัดสินใจลงไปเช่นนั้น
ในเมื่อ “ตีนช้างเหยียบปากนก”เราก็จะไม่ร้อง แต่หากตีนช้างง้างขึ้น เราก็จะร่ำร้อง แม้เสียงนั้นจะแหบพร่า และนำพาซึ่งการเย้ยหยัน
อีสานก็ยังพร้อมที่จะสงบเสงี่ยมในฐานะพลเมืองของประเทศนี้ แต่เป็นความสงบเสงี่ยมที่มีศักดิ์ศรีเกียรติยศ และพร้อมจะเดินหน้าไปสู่การพัฒนาประเทศร่วมกับประชาชาติไทยทุกภาคส่วน ด้วยการเคารพต่อการตัดสินใจของคนไทยทุกๆ คน ทุกภูมิภาคว่าล้วนมีเหตุมีผลมีความเป็นมา โดยเราจะไม่มองหรือตัดสินด้วยอคติอันฉาบฉวย
แต่หากผู้ทรงอำนาจ และประชาชาติไทยไม่ต้องการเช่นนั้น เราก็พร้อมจะให้ท่านเป็นช้างเหยียบปากนกต่อไป โดยไร้การทัดทาน ไร้การต่อต้าน ไร้การทวงถามความเป็นธรรมใดๆ เพราะตลอดประวัติศาสตร์ของเรานั้น คนอีสานเป็นนกที่ถูกช้างสารเหยียบปากมาอย่างยาวนานและชินชาเสียแล้ว
Credit(ถ้าจะไปอ่านเพิ่มเติม) :
http://www.oknation.net/blog/print.php?id=104413