ม.ขอนแก่นเจ๋ง!! ค้นพบโรคใหม่
___________________________________
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 24 กันยายน ที่ห้องประชุมสิริคุณากร 4 ชั้น 2 อาคารสิริคุณากร สำนักงานอธิการบดี ม.ขอนแก่น ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและการถ่ายทอดเทคโนโลยี ม.ขอนแก่น ศาสตราจารย์แพทย์หญิง เพลินจันทร์ เชษฐ์โชติศักดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่น และทีมคณะแพทย์ ม.ขอนแก่น ร่วมกันแถลงข่าว “โรคภูมิคุ้มกันบกพร่องที่ไม่ใช่เอดส์” โรคใหม่ที่คนเอเชียเป็นกันเยอะ ที่ถูกค้นพบเป็นครั้งแรกในโลก โดยทีมแพทย์ ม.ขอนแก่น
ศ.นพ.สุทธิพันธ์กล่าวว่า คนทั่วไปมักเข้าใจว่าโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องจะต้องเกิดจากการติดเชื้อเอชไอวี หรือโรคเอดส์เท่านั้น แต่ข้อเท็จจริง สามารถเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ อย่างโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องที่ไม่ใช่เอดส์ ถือเป็นโรคใหม่ที่วงการแพทย์ของโลกเพิ่งค้นพบ ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้วิจัยร่วมกันระหว่างแพทย์จากสถาบันสุขภาพแห่งชาติ คือ ประเทศไทย ประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศไต้หวัน ที่ได้ร่วมมือกันศึกษาวิจัยในเรื่ง โรคภูมิคุ้มกันบกพร่องที่ไม่ใช่โรคเอดส์ ซึ่งผลการศึกษาในครั้งนี้เปรียบแล้วก็เหมือนกุญแจสำคัญ ที่สามารถช่วยให้การรักษาของหมอเป็นไปอย่างถูกทิศทางและแม่นยำ ช่วยชีวิตผู้ป่วยให้รอดพ้นจากโรคร้ายได้ นอกจากนี้ผลการศึกษาในครั้งนี้ ยังได้รับการตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์หลายฉบับ ที่ได้รับการอ้างอิงและเป็นที่ยอมรับสูง
ศาสตราจารย์แพทย์หญิง เพลินจันทร์ ในฐานะหัวหน้าทีมวิจัยโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องที่ไม่ใช่เอดส์ กล่าวว่า ทีมงานโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องที่ไม่ใช่เอดส์ได้มีโอกาสดูแลผู้ป่วยผู้ใหญ่ที่มีอาการต่อมน้ำเหลืองอักเสบเรื้อรัง ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นวัณโรคต่อมน้ำเหลืองหลายราย ตั้งแต่ปี พ.ศ.2536 เป็นต้นมา ซึ่งต่อมาพบว่าผู้ป่วยเหล่านั้นไม่ได้ติดเชื้อวัณโรค แต่เป็นการติดเชื้อกลุ่มวัณโรคที่ไม่ใช่วัณโรค เรียกว่า nontuberculous mycobacteria (NTM) นอกจากนี้ผู้ป่วยบางรายมีการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อราอื่นร่วมกัน และผู้ป่วยบางรายมีภาระผิวหนังอักเสบเป็นๆ หายๆ
“ต่อมา ในปี พ.ศ.2543 ทีมนักวิจัยโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องที่ไม่ใช่เอดส์ คณะแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่นได้รวบรวมผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อกลุ่มวัณโรค หรือ NTM เพิ่มเติมจากโรงเรียนแพทย์ 4 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ศิริราชพยาบาล รามาธิบดีและมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวมได้ 129 ราย ซึ่งเป็นการรายงานการติดเชื้อกลุ่มวัณโรค NTM ที่ไม่ได้ติดเชื้อเอดส์ที่มากที่สุดในโลก ในระหว่างที่ทีมนักวิจัยยังไม่ทราบสาเหตุของภูมิคุ้มกันบกพร่องในผู้ป่วย ในปี พ.ศ. 2547 ได้มีรายงานผู้ป่วยชาวฟิลิปินส์และคนไทยที่อาศัยอยู่ประเทศเยอรมนีมีการติดเชื้อกลุ่มวัณโรค NTM และตรวจพบสารต่อต้านอินเตอร์เฟอรอนแกมมาเป็นครั้งแรก หลังจากนั้นมีการรายงานผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นที่มาของการร่วมมือระหว่างสถาบันสุขภาพแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศไทยและประเทศไต้หวัน ทำให้เกิดผลงานได้รับการตีพิมพ์ใน New England Journal of Medicine”ศาสตราจารย์แพทย์หญิง เพลินจันทร์กล่าว
ศาสตราจารย์แพทย์หญิง เพลินจันทร์กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคภูมิคุ้มกันบกพร่องที่ไม่ใช่เอดส์ ถือเป็นโรคค้นพบใหม่ อาการทางคลินิกต่างจากโรคเอดส์ รวมถึงมีความคล้ายคลึงกับโรคพุ่มพวง หรือโรค SLE ขออธิบายในส่วนของโรคเอดส์ หรือโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง ที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส หรือเอชไอวี ซึ่งเอชไอวี จะทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายบกพร่อง แต่ว่าในผู้ป่วยเอชไอวี หรือผู้ป่วยเอดส์ภูมิคุ้มกันจะสูญเสียไปมาก เพราะฉะนั้นการติดเชื้อฉวยโอกาสนั้น จะมีโอกาสติดเชื้อได้หลายอย่างมากกว่า และภูมิคุ้มกันบกพร่องมากกว่าเชื้อฉวยโอกาส ที่พบได้บ่อยที่สุด ก็คือเชื้อวัณโรค รองลงมาก็จะเป็นพวกเชื้อราต่างๆ ในผู้ป่วยโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง ที่ไม่ใช่เอดส์นี้ ไม่ได้ติดเชื้อวัณโรค เป็นอันดับหนึ่งที่ส่วนใหญ่จะเจอได้น้อย
“ส่วนโรคพุ่มพวง หรือโรค SLE มีความเหมือนกับโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง ที่ไม่ใช่เอดส์ ก็คือร่างกายสร้างสารขึ้นมายับยั้งเซลล์ของตัวเองเหมือนกัน แต่ว่าโรคพุ่มพวงหรือโรค SLE นั้น ร่างกายจะสร้างแอนติบอดี้มายับยั้งเซลล์พวกไต ทำให้ไตผิดปกติ เม็ดเลือดขาวหรืออวัยวะต่างๆ ในร่างกาย คนไข้ก็จะมีอาการผมร่วง มีผื่น ปวดตามข้อ มีโรคไต โรคเลือด จะไม่เกี่ยวข้องกับโรคติดเชื้อ แต่โรคภูมิคุ้มกันบกพร่องที่ไม่ใช่เอดส์นี้ ร่างกายสร้างสารขึ้นมายับยั้งอินเตอร์เฟรอนแกรมมาของตัวเอง คือเป็นโรคที่พูดง่ายๆ สร้างขึ้นมาทำลายเซลล์ของตัวเองเช่นกัน และจากการศึกษาข้อมูลอ้างอิง พบว่าโรคนี้ส่วนใหญ่จะพบมากในชาวเอเชีย ในประเทศไทยก็จะพบกับคนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากที่สุด
ศาสตราจารย์แพทย์หญิงเพลินจันทร์กล่าวอีกว่า โรคภูมิคุ้มกันบกพร่องที่ไม่ใช่เอดส์ ที่มีอาการของโรคคล้ายคลึงกับโรคพุ่มพวง โรคนี้ไม่ติดต่อระหว่างคนสู่คนและเชื้อกลุ่มวัณโรค NTM ที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยเหล่านี้ ก็ไม่ติดต่อระหว่างคนเช่นกัน ซึ่งต่างจากวัณโรค และหลายคนก็คงมีคำถามว่าโรคนี้สามารถรักษาได้หรือไม่ ขอตอบว่าปัจจุบันการรักษาคือการรักษาโรคติดเชื้อโดยเฉพาะการรักษาการติดเชื้อกลุ่มวัณโรค NTM ผู้ป่วยบางรายหายขาดได้ แต่มักต้องรักษาเป็นเวลานาน ในรายที่ติดเชื้อฉวยโอกาส ก็ให้การรักษาโรคเหล่านั้นได้ สำหรับการรักษาเพื่อลดการสร้างสารต่อต้านอินเตอร์เฟอรอนแกมมา ต้องรอการศึกษาวิจัยในอนาคต
ที่มา: matichon.co.th